pic001

 

     วันที่ 7 กรกฏาคม  2565 เวลา 15.00น. น.สพ.ชาติชาย ยิ้มเครือ ปศุสัตว์จังหวัดจันทบุรี พร้อมน.สพ.สมชาย เศรษฐ์เวคิน หัวหน้ากลุ่มพัฒนาสุขภาพสัตว์ ลงพื้นที่ มอบใบรับรองสถานภาพฟาร์มปลอดโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร ให้แก่ ฟาร์มจันทบุรี 1 ตั้งอยู่เลขที่ 68/2 ม.3 ต.ทุ่งเบญจา อ.ท่าใหม่ จ.จันทบุรี และฟาร์มจันทบุรี 2 ตั้งอยู่เลขที่ 4/1 ม.16 ต.สองพี่น้อง อ.ท่าใหม่ จ.จันทบุรี ของบริษัท ซีพีเอฟ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้เกษตรกรที่รับลูกสุกรไปเลี้ยงขุนต่อ ว่าลูกสุกรที่ออกจากฟาร์มทั้ง 2 แห่ง มีสุขภาพแข็งแรง ไม่มีเชื้อโรคที่เป็นสาเหตุของโรคอหิวาต์แอฟริกา และเป็นประโยชน์ต่อการส่งออกสุกรไปต่างประเทศ สำหรับหลักเกณฑ์การรับรองฟาร์มปลอดโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร ได้แก่ ต้องได้รับการรับรองมาตรฐานฟาร์มสุกร(GAP) จากกรมปศุสัตว์ มีคู่มือความปลอดภัยทางชีวภาพต่อโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร ซึ่งในคู่มือประกอบด้วย มาตรการจัดการความเสี่ยงต่อโรค เช่น มีการทำลายเชื้อโรคของคน ยานพาหนะ และสิ่งของภายในฟาร์ม มีการควบคุมการนำอาหารประเภทเนื้อสุกรจากภายนอกฟาร์มเข้ามาในฟาร์มหรือเขตการเลี้ยงสัตว์  มีการจัดการสัตว์พาหะนำโรค เช่น หนู นก มีมาตรการการขนถ่ายสุกร มีแผนป้องกันและควบคุมโรคเมื่อพบโรครอบฟาร์มหรือกรณีพบโรคในฟาร์ม มีระบบการตรวจสอบย้อนกลับ(Traceability) ของสัตว์  มีระบบการบันทึกข้อมูลสัตว์ มีโรงเรือนสำหรับกักกันสุกรที่นำเข้ามาเลี้ยงใหม่ แยกออกจากโรงเรือนเลี้ยงสุกร โดยระยะเวลาการกักไม่น้อยกว่า 14 วัน มีการพักคอกฆ่าเชื้อก่อนนำสุกรเข้ามาเลี้ยงใหม่อย่างน้อย 1 สัปดาห์ และมีระบบการเลี้ยงแต่ละโรงเรือน
แบบเข้าหมด ออกหมด( all-in all-out) โดยการนำสุกรเข้ามาเลี้ยงใหม่ในแต่ละโรงเรือน ต้องมีการดำเนินการให้เสร็จสิ้นภายใน 1 สัปดาห์ มีการใช้น้ำยาฆ่าเชื้อโรคที่มีประสิทธิภาพต่อการทำลายเชื้อโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร นอกจากนี้ สำหรับฟาร์มที่มีสุกรมากกว่า 1,000 ตัว ต้องมีผลลบต่อโรค จากการสุ่มเก็บตัวอย่างเลือดสุกร ฟาร์มละ 125 ตัวอย่าง และจะมีการตรวจเลือดซ้ำทุก 6 เดือน ส่วนฟาร์มที่มีสุกรน้อยกว่า 1,000 ตัว ต้องมีผลลบต่อโรค จากการสุ่มเก็บตัวอย่างเลือดสุกร ฟาร์มละ 65 ตัวอย่าง และจะมีการตรวจเลือดซ้ำทุก 6 เดือน เกษตรกรผู้ประสงค์ขอรับการรับรองฟาร์มสุกรปลอดโรคอหิวาต์แอฟริกาสามารถติดต่อได้ที่สำนักงานปศุสัตว์อำเภอทุกอำเภอในพื้นที่ที่ฟาร์มสุกรตั้งอยู่