วันอังคารที่ 25 มีนาคม พ.ศ. 2557

 นายแพทริค เดบัวเซ อัครราชทูตที่ปรึกษา ด้านสาธารณสุขและความปลอดภัยด้านอาหาร  คณะผู้แทนสหภาพยุโรปประจำประเทศไทย  และนายสัตวแพทย์ทฤษดี  ชาวสานเจริญ อธิบดีกรมปศุสัตว์  แถลงข่าว เรื่อง ความร่วมมือระหว่างสหภาพยุโรปและไทยด้านสวัสดิภาพสัตว์ ในการอบรมด้านสวัสดิภาพสัตว์ ซึ่งจัดขึ้นระหว่างวันที่ 25-28 มีนาคม 2557 ณ โรงแรมสุโกศล กรุงเทพฯ ที่การอบรมดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของการสัมมนาระดับภูมิภาคที่ได้รับเงินสนับสนุนจากโครงการ “การอบรมเรื่องความปลอดภัยด้านอาหาร” โดยคณะกรรมาธิการยุโรป หรือ “Better Training For Safer Food” (BTSF) initiative of the European Commission ที่ผู้เข้าอบรมเป็นเจ้าหน้าที่ผู้เชี่ยวชาญที่รับผิดชอบด้านสวัสดิภาพสัตว์จากประเทศต่างๆ ในทวีปเอเชีย ได้แก่ กลุ่มประเทศอาเซียน บังคลาเทศ ภูฐาน ฮ่องกง ศรีลังกา และไต้หวัน

 

นายสัตวแพทย์ทฤษดี  ชาวสวนเจริญ อธิบดีกรมปศุสัตว์ เปิดเผยว่า สวัสดิภาพสัตว์เกิดขึ้นเนื่องจากสัตว์เป็นสิ่งมีชีวิตที่มีความรู้สึก การนำสัตว์มาเลี้ยงเป็นอุตสาหกรรมเพื่อผลิตอาหารแก่มนุษย์ สัตว์จึงควรได้รับการดูแลและปฏิบัติอย่างมีมนุษยธรรม หลีกเลี่ยงการกระทำใดๆ ที่จะทำให้สัตว์ได้รับความเจ็บปวด หรือต้องทนทุกข์ทรมานโดยไม่จำเป็น ทั้งในการเลี้ยงสัตว์ การขนส่งสัตว์ และการฆ่าสัตว์ การจัดการสภาพแวดล้อมของสัตว์จึงเป็นปัจจัยสำคัญที่จะส่งผลกระทบต่อสวัสดิภาพสัตว์ทั้งทางบวกและทางลบ สภาพแวดล้อมที่ทำให้สัตว์เครียดจนไม่สามารถปรับตัวได้ อาจทำให้สัตว์ป่วย ตาย หรือหากสัตว์สามารถปรับตัวได้แต่เป็นไปด้วยความยากลำบาก สัตว์ก็จะเจริญเติบโตช้า ให้ผลผลิตลดลง เป็นต้น ดังนั้น การดูแลคุ้มครองสวัสดิภาพสัตว์จึงไม่ใช่เฉพาะเรื่องของศีลธรรม จริยธรรมเท่านั้น แต่เป็นปัจจัยสำคัญที่ส่งผลต่อความสมบูรณ์ของสุขภาพสัตว์และผลผลิตจากสัตว์ 

 

สหภาพยุโรปถือได้ว่าเป็นผู้นำทางด้านสวัสดิภาพสัตว์ เนื่องจากมีความก้าวหน้าในการศึกษา วิจัย พัฒนา และดำเนินงานด้านสวัสดิภาพสัตว์มาอย่างยาวนาน มาตรฐานสวัสดิภาพสัตว์ของสหภาพยุโรปเป็นที่ยอมรับของนานาประเทศ อีกทั้งในปัจจุบันสหภาพยุโรปได้กำหนดเงื่อนไขด้านสวัสดิภาพสัตว์สำหรับการนำเข้าสินค้าที่มีแหล่งกำเนิดจากสัตว์จากประเทศที่สามด้วย ซึ่งสหภาพยุโรปก็เป็นตลาดหลักที่สำคัญของไทยในการส่งออกสินค้าเนื้อสัตว์ปีกไปจำหน่าย เช่น   ในปี 2013 ไทยส่งออกเนื้อสัตว์ปีกสดและผลิตภัณฑ์เนื้อสัตว์ปีกแช่แข็งไปสหภาพยุโรปปริมาณ 61,081 ตัน และ 191,321 ตัน ตามลำดับ 

 

อธิบดีกรมปศุสัตว์ กล่าวเพิ่มเติมว่า เนื่องจากสวัสดิภาพสัตว์มีความสำคัญทั้งต่อตัวสัตว์ ต่อมนุษย์ ต่อเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม การพัฒนาด้านสวัสดิภาพสัตว์จึงต้องคำนึงถึงทั้งข้อมูลทางวิทยาศาสตร์

และความเหมาะสมกับสภาพแวดล้อม วัฒนธรรม และสังคมของประเทศด้วย มาตรฐานสวัสดิภาพสัตว์ของสหภาพยุโรปเมื่อนำมาใช้กับอุตสาหกรรมสัตว์ของไทยอาจไม่เกิดผลดีทั้งหมด เพราะสภาพแวดล้อมและสภาพภูมิอากาศที่แตกต่างกัน ดังนั้น เพื่อให้การพัฒนาด้านสวัสดิภาพสัตว์ของไทยเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและยั่งยืน กรมปศุสัตว์จึงได้ขอความร่วมมือจากสหภาพยุโรปซึ่งมีความก้าวหน้าอย่างมากด้านสวัสดิภาพสัตว์

 ในการถ่ายทอดความรู้  เทคโนโลยี  และประสบการณ์  เพื่อการศึกษา วิจัย ด้านสวัสดิภาพสัตว์ของไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งสวัสดิภาพของสัตว์ปีก  เพื่อจะได้นำไปสู่การจัดทำมาตรฐานสวัสดิภาพสัตว์ที่เหมาะสมกับสภาพแวดล้อมและสภาพภูมิอากาศของประเทศไทย รวมทั้งสามารถนำไปใช้ปฏิบัติได้ในประเทศสมาชิกอื่นๆ ของอาเซียนที่มีสภาพคล้ายคลึงกับประเทศไทย โดยในช่วงระหว่างวันที่ 31 มีนาคม – 4 เมษายน 2014

ผู้เชี่ยวชาญจากสหภาพยุโรป คือ Dr. Mohan Raj จะมาช่วยให้คำแนะนำแก่เจ้าหน้าที่และนักวิชาการ

 

--------------------------------------------

 

ข้อมูล/ข่าว : สำนักพัฒนาระบบและรับรองมาตรฐานสินค้าปศุสัตว์                                เผยแพร่ : พ็ญศิริ ดวงอุดม นักวิชาการเผยแพร่ชำนาญการ

 

ที่มา : กรมปศุสัตว์