พิษสุนัขบ้า...ภัยร้ายใกล้ตัว  อธิบดีกรมปศุสัตว์แนะ ๓ วิธี ป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าในสัตว์ (๔๖/๒๕๕๗)

  โรคพิษสุนัขบ้า เป็นภัยร้ายใกล้ตัว  อธิบดีกรมปศุสัตว์แนะ ๓ วิธี ป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าในสัตว์ ฉีดวัคซีนป้องกันแม้จะเลี้ยงอยู่ในบ้าน  ไม่ปล่อยสุนัขออกมานอกบ้าน คุมกำเนิดไม่ให้มีลูกมาก และไม่นำสุนัขไปปล่อย

  นายสัตวแพทย์ทฤษดี ชาวสวนเจริญ อธิบดีกรมปศุสัตว์ กล่าวถึงข่าวที่พบแม่สุนัขเป็นโรคพิษสุนัขบ้าที่ตำบลหัวขวาง อำเภอโกสุมพิสัย จังหวัดมหาสารคาม และมีการแจกจ่าย จำหน่ายลูกสุนัขจากแม่ตัวดังกล่าวไปในหลายจังหวัดนั้น ขณะนี้สำนักงานปศุสัตว์จังหวัดมหาสารคามได้สั่งกักสัตว์จำนวน ๔ ตัวที่สัมผัสโรคเป็นเวลา ๑๘๐ วัน และควบคุมการเคลื่อนย้ายสุนัขออกนอกพื้นที่ สำนักงานปศุสัตว์อำเภอโกสุมพิสัย ร่วมกับสำนักงานสาธารณสุขอำเภอโกสุมพิสัย และองค์กรบริหารส่วนท้องถิ่น ประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนในพื้นที่ทราบถึงการระบาด และดำเนินการให้ความรู้ ความเข้าใจเกี่ยวกับโรคพิษสุนัขบ้า วิธีการปฏิบัติหลังสัมผัสสุนัข และแมวสงสัยในพื้นที่รอบจุดเกิดโรครัศมี ๕ กิโลเมตร และขอความร่วมมือผู้นำและอาสาสมัครหมู่บ้านในการเฝ้าระวังโรค และขอเตือนประชาชนโดยเฉพาะผู้เลี้ยงสุนัขว่า โรคพิษสุนัขบ้าเป็นภัยร้ายใกล้ตัว โดยเฉพาะผู้เลี้ยงสุนัข คนที่อยู่ในบ้านและเพื่อนบ้าน โดยผู้เลี้ยงสุนัขส่วนใหญ่ยังเข้าใจว่าเลี้ยงสุนัขอยู่ในบ้านไม่จำเป็นต้องฉีดวัคซีนเพราะเลี้ยงดูอย่างดี ซึ่งเป็นความเข้าใจผิด  เพราะจากข้อมูลผู้เสียชีวิตด้วยโรคพิษสุนัขบ้าพบว่ากว่าร้อยละ ๘๐ เกิดจากถูกสุนัขที่เลี้ยงไว้ และสุนัขของเพื่อนบ้านที่ไม่ได้ฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้ากัด

  อธิบดีกรมปศุสัตว์แนะนำอีกว่า ๓ วิธีที่จะป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าจากสัตว์เลี้ยงก็คือ ฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าให้สัตว์เลี้ยงโดยเฉพาะสุนัขแม้จะเลี้ยงไว้ในบ้านเพราะอาจถูกสุนัขที่เป็นโรคพิษสุนัขบ้ากัดขณะที่เห่าบริเวณ ช่องรั้วบ้าน หรือถูกกัดขณะเจ้าของเปิดประตูบ้านโดยที่เจ้าของไม่ทราบ หรือจากสุนัขที่นำเข้ามาเลี้ยงใหม่ วิธีที่ ๒ คือเลี้ยงสุนัขไว้แต่ในบ้านไม่ปล่อยออกมาเพ่นพ่านนอกบ้าน เพราะอาจถูกสุนัขที่เป็นโรคพิษสุนัขบ้ากัดหรือได้รับเชื้อ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงฤดูผสมพันธุ์ วิธีที่ ๓ คือคุมกำเนิดสุนัขไม่ให้มีจำนวนมากเกินไปจนเลี้ยงไม่ไหว และไม่นำสุนัขที่มากเกินไปหรือไม่อยากเลี้ยงไปปล่อยวัดหรือที่สาธารณะ เพราะจะเป็นการแพร่กระจายโรคพิษสุนัขบ้า วิธีที่ดีที่สุดที่จะป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า  ก็คือการหลีกเลี่ยงการถูกสุนัขกัดโดยไม่ไปแหย่ แยกสุนัขที่กำลังต่อสู้กัน ไม่คลุกคลีกับสุนัขที่ไม่ทราบประวัติการเข้าไปช่วยเหลือสุนัขจรจัดที่ได้รับบาดเจ็บ การซื้อ หรือนำสุนัขเข้ามาเลี้ยงใหม่ต้องระวัง ควรทราบประวัติ หลีกเลี่ยงการสัมผัสน้ำลาย อย่าให้สัตว์กัดหรือเลีย หลังสัมผัสสัตว์ควรล้างมือให้สะอาดทุกครั้ง และนำสัตว์สุนัขอายุได้ ๒ เดือนขึ้นไป ไปฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า ฉีดซ้ำตามที่สัตวแพทย์กำหนด และฉีดซ้ำทุกปีไม่ ต้องรอหน้าร้อนเพราะโรคพิษสุนัขบ้าเกิดได้ทั้งปี หากสุนัขตายต้องส่งตรวจเพื่อยืนยันว่าไม่เป็นโรคพิษสุนัขบ้า

  อธิบดีกรมปศุสัตว์กล่าวฝากในตอนท้ายว่า ขณะนี้จนถึงสิ้นเดือนเมษายน ๒๕๕๗ กรมปศุสัตว์ร่วมกับกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข อบต. เทศบาล จัดให้มีโครงการรณรงค์การฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าและส่งเสริมการเลี้ยงสุนัขที่ถูกต้องทั่วประเทศ

 

--------------------------------------------

 

ข้อมูลสำนักควบคุม  ป้องกันและบำบัดโรคสัตว์  กรมปศุสัตว์                                                        ข่าว สัตวแพทย์หญิงปราณี  พาณิชย์พงษ์

 

ที่มา : กรมปศุสัตว์