นายทฤษดี ชาวสวนเจริญ อธิบดีกรมปศุสัตว์ เปิดเผยว่า ตามที่มีข่าวปรากฏทางสื่อมวลชน เมื่อวันที่ 22 มกราคม 2557 ที่ผ่านมา ว่ามีรายงานพบการระบาดของไข้หวัดนกชนิด H5N8 ในฟาร์มเป็ดแห่งหนึ่ง ที่เมืองโกชาง ในจังหวัดชอลลาเหนือ ซึ่งทางการเกาหลีใต้ได้ดำเนินมาตรการควบคุม และป้องกันการระบาดของโรคไข้หวัดนกอย่างต่อเนื่อง โดยมีการทำลายสัตว์ปีกประมาณ 200,000 ตัวจากฟาร์มที่พบโรคและฟาร์มใกล้เคียง รวมถึงการห้ามเคลื่อนย้ายสัตว์ปีกในจังหวัด ชอลลาเหนือและ ชอลลาใต้ โดยมีรายงานการระบาดของเชื้อไข้หวัดนกในกลุ่มสัตว์ปีก ในฟาร์มทั้งหมด 10 แห่ง ผลการตรวจสอบตัวอย่างดีเอ็นเอยืนยัน พบการระบาดของเชื้อสายพันธุ์ H5N8 ในกลุ่มสัตว์ปีกของฟาร์ม 4 แห่ง ส่วนอีก 6 แห่ง ยังคงอยู่ระหว่างการตรวจสอบ นอกจากนี้ยังมีรายงานยืนยันพบผู้เสียจากไข้หวัดนกชนิด H5N1 ในประเทศเวียดนามซึ่งนับเป็นรายแรกในรอบ 9 เดือน โดยผู้เสียชีวิตเป็นชายวัย 52 ปี ติดเชื้อและเสียชีวิตที่โรงพยาบาลในพื้นที่ภาคใต้ของเวียดนาม เมื่อวันที่ 18 มกราคม 2557 รวมถึง การระบาดไวรัสไข้หวัดนกชนิด H7N9 ที่มีรายงานการระบาดเพิ่มขึ้นอย่างมากในประเทศจีน ทั้งนี้องค์การอนามัยโลก รายงานยืนยันล่าสุดในเดือน ม.ค. 2557 ทั่วโลกมีผู้ป่วยโรคไข้หวัดนกสายพันธุ์ H7N9 ทั้งหมด 208 ราย เสียชีวิต 53 ราย ซึ่งมีรายงานพบผู้ติดเชื้อเฉพาะในเดือนมกราคม 2557 มากกว่า 50 ราย โดยล่าสุดรายงานพบผู้ป่วยจำนวน 23 รายเมื่อวันที่ 20 ม.ค. 2557 เป็นผู้ป่วยจากมณฑลฝูเจี้ยน 5 ราย กวางตุ้ง 5 ราย กุ้ยโจว 1 ราย เจ้อเจียง 11 ราย และจากเมืองเซียงไฮ้ 1 ราย โดยจากจำนวนดังกล่าว มีรายงานผู้ป่วย 1 ราย จากมณฑลกุ้ยโจวเสียชีวิต
จากข้อมูลดังกล่าว กรมปศุสัตว์ได้มีการติดตามสถานการณ์และข้อมูลข่าวสารอย่างใกล้ชิด รวมทั้งดำเนินการเฝ้าระวังและป้องกันโรคไข้หวัดนกอย่างต่อเนื่องและเข้มงวดอยู่แล้ว อย่างไรก็ตามความเสี่ยงของโรคไข้หวัดนกที่ระบาดอยู่อาจมีโอกาสแพร่ระบาดมายังประเทศไทยได้ทางเป็ด นกอพยพ หรือนกธรรมชาติที่บินเข้ามาสู่ประเทศไทย หรือการลักลอบนำสัตว์ปีกเข้ามาตามบริเวณแนวชายแดนผ่านทางประเทศเพื่อนบ้าน ดังนั้น กรมปศุสัตว์ได้ร่วมกับกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช ในการให้เจ้าหน้าที่เข้าตรวจสอบและเก็บตัวอย่างอุจจาระและซากของเป็ด นกอพยพ และนกธรรมชาติในแหล่งที่นกอาศัยอยู่ ทั่วประเทศ หากพบว่ามีนกตายผิดปกติ หรือพบเชื้อโรคไข้หวัดนกให้เข้าควบคุมโรคในพื้นที่ทันที และได้สั่งการให้ด่านกักสัตว์ตามแนวชายแดนทุกด่านร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งทหาร ตำรวจ ศุลกากร เข้มงวดตรวจสอบบุคคลเข้าออกต้องไม่มีการนำสัตว์ปีกหรือซากสัตว์ปีกเข้ามาในประเทศ พร้อมทั้งพ่นน้ำยาฆ่าเชื้อโรคยานพาหนะเข้า-ออก ทั้งรถยนต์ รถจักรยานยนต์ เรือ รถเข็น ตลอดจนบุคคลที่เดินเท้าเข้ามา หากพบการกระทำผิดจะจับกุมดำเนินคดีและทำลายสัตว์ปีกหรือซากสัตว์ปีกทันที และประชาสัมพันธ์ให้ความรู้แก่ประชาชนบริเวณแนวชายแดน ตลอดจนผู้ที่เดินทางเข้า-ออกประเทศ ให้ระมัดระวังป้องกัน โรคไข้หวัดนก
ท้ายนี้กรมปศุสัตว์ จึงขอความร่วมมือเกษตรกรผู้เลี้ยงสัตว์ปีกให้หมั่นดูแลสุขภาพสัตว์ปีกของตน เนื่องจากปัจจุบันเป็นช่วงมีอากาศแปรปรวน ควรจัดให้มีเล้าหรือโรงเรือนสำหรับสัตว์ปีกนอนในตอนกลางคืน สามารถป้องกันพาหะนำโรคระบาดสัตว์ได้ อีกทั้งยังง่ายต่อการดูแลสุขภาพอีกด้วย นอกจากนี้ควรเสริมวิตามินและแร่ธาตุ รวมทั้งถ่ายพยาธิภายนอกและภายในตามโปรแกรมอย่างสม่ำเสมอ เพื่อให้สัตว์ปีกมีสุขภาพแข็งแรง หากพบสัตว์ปีกป่วยหรือตายผิดปกติ ไม่ทราบสาเหตุ ให้รีบแจ้งเจ้าหน้าที่ปศุสัตว์ ปศุสัตว์ตำบล อาสาปศุสัตว์ อาสาสมัครสาธารณสุข กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน องค์การบริหารงานส่วนตำบล (อบต.) ในพื้นที่ทันที หรือแจ้งสายด่วนของกรมปศุสัตว์ที่โทร 0-8566-09906 เพื่อดำเนินการควบคุม ป้องกันโรคมิให้แพร่ระบาดได้ทันท่วงที อย่านำสัตว์ปีกไปประกอบอาหารหรือโยนทิ้งน้ำ ให้ทำการฝังหรือเผาตามคำแนะนำของเจ้าหน้าที่ ข้อมูลเพิ่มเติมดูได้จาก www.dld.go.th/dcontrol อธิบดีกรมปศุสัตว์ กล่าวในที่สุด
--------------------------------------------
ข้อมูล/ข่าว : สำนักควบคุม ป้องกันและบำบัดโรคสัตว์ เผยแพร่ : เพ็ญศิริ ดวงอุดม นวก.เผยแพร่ชำนาญการ กลุ่มเผยแพร่ฯ สลก.
ที่มา : กรมปศุสัตว์